นักวิ่งจะเริ่มวิ่งได้ช้าลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง และในบทความนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องเหตุผลที่ทำไมสมรรถนะและความเร็วในการวิ่งถึงได้ลดลงตามจำนวนอายุของเรา และ 5 วิธีการที่จะช่วยชะลอให้มันเกิดขึ้นช้าลง เพื่อผลดีต่อการวิ่งของเราในระยะยาว
นักวิ่งจะเริ่มวิ่งช้าลงตามอายุหรือไม่?
จากผลการวิจัยในกลุ่มนักวิ่ง 194,560 คน ที่ลงแข่งวิ่ง 15K ในช่วงปี 1995-2007 พบว่าสมรรถนะในการวิ่งจะเริ่มลดลงหลังอายุ 40ปีขึ้นไป โดยนักวิ่งจะทำเวลาสิ้นสุดในการวิ่งเพิ่มมากขึ้นปีละ 0.20% และมันจะเริ่มมากกว่านั้นเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป
และเป็นที่น่าสนใจว่านักวิ่งชายจะมีการสูญเสียสมรรถนะมากกว่านักวิ่งหญิง 5.9% และนักวิ่งที่วิ่งเป็นประจำจะสูญเสียสมรรถนะมากกว่าคนที่ไม่ค่อยฝึกวิ่ง 4.5%
นอกจากนี้ยังมีอีกการวิจัยกับนักวิ่งชั้นน้ำ 200 คนที่เริ่มมีอายุ โดยวิจัยจากการวิ่งระยะทาง 5K , 10K , ฮาล์ฟมาราธอน และมาราธอน ก็พบว่าจะยังไม่มีการลดลงของสมรรถนะจนกระทั่งอายุ 35 ปีขึ้นไป ในช่วง 5 ปี ระหว่างตอนอายุ 35-40 จะพบว่ามีการลดลงของสมรรถนะในการวิ่งเฉลี่ยปีละ 1%
และในช่วงอายุ 40-70 สมรรถนะก็จะเริ่มลดลงถึงปีละ 1% ส่วนในช่วงอายุ 70-90 ปี สมรรถนะจะลดลงปีละ 1.5% และในช่วงอายุ 90-95 ปี สมรรถนะจะลดลง 2-3% ต่อปี โดยหลังอายุ 90 ปีขึ้นไปสมรรถนะในการวิ่งโดยรวมของเราจะลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงพีคสุดของนักวิ่งแต่ละคน
ทำไมความเร็วและสมรรถนะในการวิ่งจึงลดลงตามอายุ
เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากวิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาอเมริกัน คนเราจะมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องต่อความสามารถทางกายภาพ ซึ่งจะคอยซัพพอร์ตการออกกำลังกายอย่างเช่นการวิ่งที่จะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนี้
- Max Heart Rate จะลดลงตามอายุ
- ความยืดหยุ่นและความสามารถในการขยายตัวของหลอดเลือดจะลดลง
- ความแข็งแรงของใยกล้ามเนื้อลดลง
- พละกำลังของกล้ามเนื้อกระตุกเร็วจะลดลง
- สูญเสียมวลกระดูก
- ไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้น
- ความสามารถทางด้านแอโรบิกลดลง
- ความสามารถในการสลายกรดแลคติกลดลง
โดยรวมแล้วมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักที่มันจะเริ่มเสื่อมลงตามอายุก็คือ VO2Max และมวลกล้ามเนื้อของเรา การวิจัยพบว่า VO2Max จะเริ่มลดลงหลังอายุ 30 ปี โดยจะลดลง 10% ในทุกรอบสิบปี ซึ่งค่า VO2 นี้จะใช้วัดความสามารถในการลำเลียงออกซิเจนไปยังทั่วร่างกายระหว่างที่ออกกำลังกายนั่นเอง
นักวิจัยยังกล่าวถึงการลดลงของไมโทคอนเดรียอีกด้วย ซึ่งมันจะอยู่ในกล้ามเนื้อและคอยผลิตพลังงานให้ และเมื่อมวลกล้ามเนื้อและ VO2max ลดลงตามอายุ สมรรถนะในการวิ่งของเราจึงลดลงตามไปด้วย
แล้วก็ยังมีงานวิจัยอื่นที่พบว่า VO2 ของเรา 3-6% ต่อสิบปี เริ่มตั้งแต่ช่วงอายุ 20-30 ปีเป็นต้นไป และจะลดลง 20% ต่อสิบปีเมื่อเรามีอายุ 70 ปีขึ้นไปโดยผู้ชายจะลดมากกว่าผู้หญิง
นอกจากนี้ Max Heart Rate จะลดลง 4-6% ในทุกสิบปีหลังอายุ 20 ปีเป็นต้นไป และจะลดเร็วมากขึ้นเมื่อมีอายุมากกว่านี้
ทั้งหมดนี้เกิดจากการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อลีน โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ในกล้ามเนื้อกระตุกเร็วซึ่งมีหน้าที่ในการหดตัวของกล้ามเนื้อ , ระเบิดพลังกล้ามเนื้อ และการหดตัวอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อ แต่อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่าคนที่ฝึก Strength Training เป็นประจำจะไม่สูญเสียมวลกล้ามเนื้อจนกว่าจะมีอายุ 50 ปี
สำหรับคนอายุ 50-70 จะมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ 15% ต่อสิบปี และอัตราการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อมันจะมากกว่านี้เมื่อมีอายุ 70 ปีขึ้นไป นอกจากจะมีปัญหาสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเมื่ออายุมากขึ้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยซึ่งก็คือความเสื่อมของการควบคุมระบบประสาทของใยกล้ามเนื้อที่ยังเหลืออยู่อีกด้วย
ด้วยสองปัจจัยนี้จึงทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัวได้อย่างรวดเร็วเหมือนเดิม เพราะการวิ่งเร็วนั้นจำเป็นต้องมีการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างทรงพลัง
ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่พบว่าระยะการก้าวขาของเราจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น นอกจากนี้ความสามารถในการใช้ข้อต่อและกล้ามเนื้อน่องก็จะลดลงตามอายุไปด้วย ทำให้วิ่งไปข้างหน้าได้ยากกว่าเดิม ระยะการก้าวขาของเราจะลดลง 20% ในทุกสิบปี
5 เคล็ดลับในการผ่อนหนักให้เป็นเบา
1. ฝึก Strength Training
การฝึก Strength Training 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์โดยต้องมีการฝึกทั่วทั้งร่างกาย จะช่วยลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและพละกำลัง แถมยังช่วยให้เส้นเอ็นมีสุขภาพดีอีกด้วย
2. ฝึกวิ่งขึ้นเนิน
การฝึกวิ่งขึ้นเนินเป็นการฝึกเพื่อเพิ่มความเร็วและเป็น Strength training ไปในตัว เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว การฝึกนี้จะช่วยในการรักษามวลกล้ามเนื้อกระตุกเร็วและเพิ่มความเร็วในการวิ่งให้ถึงขีดสุด
ให้โฟกัสไปที่การหาเส้นทางวิ่งขึ้นเนินสั้นๆ ใช้เวลาวิ่งขึ้นไปได้ในเวลาไม่เกิน 30 วินาที เวลาวิ่งขึ้นก็ให้วิ่งเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การฝึกวิ่งขึ้นเนินสัปดาห์ละครั้งเป็นวิธีที่ได้ผลสำหรับการรักษาความเร็วเมื่อมีอายุมากขึ้น
3. ฝึกวิ่งด้วยท่าดริล (Drill) ทั้งหลาย
ท่าดริล เช่น ท่า High knee sprinting , ท่า A Skip , ท่า Carioca ไม่เพียงแต่จะช่วยปรับฟอร์มการวิ่งให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทั้งหมดได้ทำงานอีกด้วย
4. อย่ามองข้ามการเลือกอาหาร
เพื่อที่จะลดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและลดการสะสมไขมัน เราจะต้องได้รับสารอาหารที่ถูกต้องครบถ้วน ต้องได้รับโปรตีนมากพอ และลดแคลอรี่ลง วิทยาลัยเวชศาสตร์การกีฬาแห่งอเมริกาให้คำแนะนำว่าในแต่ละวันนักกีฬาควรได้รับโปรตีนวันละ 1.2-2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก.
5. คิดบวกเข้าไว้
ถึงแม้ว่าอายุจะส่งผลต่อการวิ่งก็ควรคิดบวกและใช้ชีวิตนักวิ่งอย่างมีความสุขต่อไป แม้ว่าจะวิ่งช้าลงเรื่อยๆ แต่ความสุขในการวิ่งก็ยังคงอยู่
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3hAayYn
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming