ประวัติของคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) ในรองเท้าวิ่ง
นับตั้งแต่การวิ่งบันทึกสถิติ Nike Breaking 2 เป็นต้นมา รองเท้าที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดก็คือรองเท้ารุ่นปริศนาที่ Kipchoge สวมใส่วิ่งทำความเร็ว Sub2 ในครั้งนี้ที่หน้าตาคล้ายกับ Nike Vapor Fly 4% คุณสมบัติหลักที่กล่าวถึงคือแผ่น Carbon Fiber ในพื้นรองเท้า และถึงแม้ว่าตัวแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์จะไม่ใช่องค์ประกอบเดียวที่ทำให้มันเป็นรองเท้าที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เป็นจุดเด่นที่ผู้ผลิตรองเท้าวิ่งต่างก็กำลังมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
รองเท้าวิ่งที่ใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์มีมาตั้งแต่กลางยุค 90 อย่างที่เราเคยเห็นนักวิ่งมาราธอนระดับโลก (Kipchoge) สวมใส่รองเท้าที่ผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตรองเท้าที่ทันสมัยที่สุด (Nike) ดูเหมือนว่าคาร์บอนไฟเบอร์จะทำให้ตลาดรองเท้าวิ่งกลับมาคึกคักและเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้ง จากรองเท้าวิ่งยี่ห้อ Hoka One One ที่นำแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ออกวางตลาดและถูกนักวิ่งจากทั่วโลกพูดถึงประสิทธิภาพของมัน และดูเหมือนว่าผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ ก็กำลังจะเปิดตัวรองเท้าวิ่งที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ตามมาอีก
ประวัติของคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber) ในรองเท้าวิ่ง ล้วนเต็มไปด้วยจุดเริ่มต้นและล้มเหลว ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ Carbon Fiber ตั้งแต่ยุค 90 จนถึงปัจจุบัน
1990’s – จุดเริ่มต้นการใช้งานครั้งแรกของคาร์บอนไฟเบอร์

Reebok เป็นบริษัทแรกที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ พวกเขาใช้มันเป็นส่วนประกอบตรงบริเวณ midfoot และสร้างหนึ่งในรองเท้าวิ่งที่เบาที่สุดจนถึงปัจจุบัน นั่นคือรุ่น Graphlite Road เป็นรองเท้าที่มี midfoot ที่แข็งแกร่งมาก หลังจากนั้นก็ออกมาเป็นรุ่น InstaPump Fury ซึ่งออกแบบโดย Steve Smith ผู้ออกแบบชื่อดัง รองเท้านี้มีพื้นรองเท้าชั้นกลางเช่นเดียวกับ Graphlite Road รวมถึงระบบปั๊มลม Reebok Pump ด้วย
ต่อมาไม่นานอาดิดาสก็ออกรองเท้าที่ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ Propulsion Plate แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากพื้นรองเท้านั้นแข็งมาก มีนักวิ่งเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถใช้งานได้ และรองเท้านี้มีอายุเพียง 1 ปีก่อนที่มันจะตกรุ่นและไม่มีการผลิตออกมาอีกเลย
ยุค 2000

คาร์บอนไฟเบอร์หายเงียบไปจากวงการรองเท้าวิ่งจนถึงปี 2008 อาจจะด้วยเหตุผลในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูงจึงทำให้การคิดต้นทุนของคาร์บอนไฟเบอร์เป็นเรื่องยาก รองเท้าที่ขายดีที่สุดในเวลานั้นคือ GT 2030 และ Adrenaline GTS ในราคา $ 90 ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างรองเท้าที่มีคาร์บอนไฟเบอร์ในราคาที่ใกล้เคียงกับ $ 90
ในปี 2005 กลุ่มผู้ลงทุนบริษัท Zoot Sports ได้นำ Aaron Azevedo (จาก Saucony) มาเป็นหัวหน้ากลยุทธ์การออกแบบการพัฒนาและการตลาดให้กับแบรนด์ เขาใช้การออกแบบพื้นฐานเหมือนกันกับที่ Reebok ใช้ และเพิ่มคุณสมบัติพิเศษที่เชื่อมระหว่างนิ้วเท้ากับ midfoot จนถึงใต้ฝ่าเท้า ผลลัพธ์ที่ได้คือนักกีฬาบอกว่าพวกเขารู้สึกว่าวิ่งได้เร็วขึ้น Azevedo และทีมใช้เวลา 3 ปีในการพัฒนารองเท้า พวกเขาเปิดตัวในฤดูใบไม้ผลิของปี 2007 ออกมาเป็นรุ่น Zoot Ultra Race
2012 ปีที่มีการแข่งขัน London Olympic

ในขณะเดียวกันก็มีนักกีฬาคนหนึ่งที่พยายามจะเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก 2012 ชื่อของเขาคือ Oscar Pistorious และเขาเป็นนักกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนของ Nike ข้อได้เปรียบตอนนั้นคือรองเท้าที่มีแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ แต่สิ่งที่เป็นข้อเสียคือรองเท้าคาร์บอนไฟเบอร์ของเขาไม่มีพื้น grip ทำให้ทีม Nike ต้องพัฒนาแผ่นเหล็กพื้นตะปูสำหรับรุ่น Pistorious แต่นอกเหนือจากการเรียนรู้วิธีการสร้างแผ่นพื้นนี้ทีม Nike ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของคาร์บอนไฟเบอร์อีกมากมาย
Nike เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมมาโดยตลอด อย่างรุ่น Nike Free ก็มีกระบวนการฉีดขึ้นรูปพื้นรองเท้าชั้นกลางที่มีความโดดเด่น ต่อมาไม่นาน Nike ได้พัฒนาโฟมใหม่ที่เรียกว่า Lunar โดยใช้คุณสมบัติของยูรีเทนและน้ำหนักที่เบาของ EVA จากนั้นผู้ผลิตรายอื่นๆอย่าง adidas กับ BASF ก็เริ่มพัฒนา Boost รวมถึง Saucony และ Brooks ด้วย
ต่อมา Nike ได้พัฒนา FlyKnit , FlyWire และทุกวันนี้แทบทุกบริษัทรองเท้าใช้ส่วนบน upper ของรองเท้าเป็นแบบถัก
ปี 2008 adidas ได้เปิดตัว adizero adios ที่ออกแบบมาเพื่อคนที่เร็วที่สุดในโลก Haile Gabrselassie เขาสร้างสถิติโลกครั้งที่ 26 ด้วยเวลา 2:03:59 ในการแข่งขันวิ่งเบอร์ลินมาราธอนปี 2008 และตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2017 adios เป็นรองเท้าวิ่งมาราธอนที่ได้รับการกล่าวถึงจุดเด่นเรื่องความเร็วตลอดมา
จนกระทั่งปี 2018 สถิตินักวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุดในโลกถูกทำลายโดย Eliud Kipchoge โดยการสร้างสถิติใหม่ที่เบอร์ลินมาราธอน ทำเวลา 2:01:39 น. และรองเท้าที่เขาสวมใส่คือ Nike Vapor Fly 4% ประวัติศาสตร์นักวิ่งและรองเท้าวิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้ง
Vapor Fly 4% เป็นรองเท้าที่มาพร้อมพื้นรองเท้าที่เป็นเอกลักษณ์และแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งได้รับการถกเถียงเป็นจำนวนมากถึงเรื่องความได้เปรียบที่ไม่เป็นธรรม แผ่นคาร์บอนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำให้ Vapor Fly 4% ช่วยให้วิ่งได้ดีขึ้นเท่านั้น
2019 – ปีแห่งคาร์บอนไฟเบอร์
Hoka One One เปิดตัว Carbon Rocket ในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2019 ซึ่งเป็นรองเท้าแข่งที่ดีและได้รับความนิยมระดับหนึ่ง ต่อมาในเดือนเมษายนพวกเขาเปิดตัว Carbon X ที่มีแรงขับบางอย่าง และเป็นรองเท้าวิ่งรุ่นที่ติดอันดับรองเท้าวิ่งยอดนิยมจนมาถึงปัจจุบัน

New Balance ออกรองเท้าวิ่งรุ่น 5280 ที่เป็นรองเท้าแข่งทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ออกมาเน้นที่การแข่งระยะ 5K
Saucony กำลังสร้างรองเท้าที่มีพื้นรองเท้าชั้นกลางและแผ่นคาร์บอนพิเศษและอื่นๆ ตลอดทั้งปี และคาดว่าจะเปิดตัวออกมาในปี 2020 นี้
Skechers มีรองเท้าใหม่ออกมาในฤดูใบไม้ร่วง Speed Elite Hyper มันใช้ midsole เดียวกับรุ่น Razor ที่มีชื่อเสียง มีการพูดถึงรองเท้ารุ่นนี้ว่ามีความกระชับมากกว่า Vapor Fly 4% และเป็นรุ่นที่ทำความเร็วได้ดีมาก
Brooks มีรองเท้าที่ Des Linden ใส่มาตั้งแต่งานแข่งวิ่งบอสตันเมื่อปี 2018 แล้ว ซึ่งเป็นรองเท้ารุ่นแรกที่สร้างขึ้นเพื่อการป้องกันแรงกระแทกและเพิ่มความเร็ว เธอวิ่งในรุ่นที่สองใน NYC Marathon และวิ่งในรุ่นที่สามที่บอสตันในปี 2019 ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้ยังไม่มีกำหนดวันวางจำหน่าย แต่คาดเดาว่าพวกเขากำลังกำหนดเป้าหมายไปยังการแข่งขันโอลิมปิกปี 2020
บทสรุป
เทรนด์การผลิตรองเท้าวิ่งกำลังมุ่งไปที่การใช้แผ่นคาร์บอนไฟเบอร์มาเพิ่มความเร็วในการวิ่ง และต้องยอมรับว่าผู้นำนวัตกรรมที่ทำให้ Carbon Fiber กลับมามีชีวิตอีกครั้งใต้แผ่นพื้นรองเท้าก็คือ Nike นั่นเอง
ที่มา : https://bit.ly/2QF4r3H
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming