4 เหตุผลที่ไตรกีฬา ไม่ใช่แค่การ ว่าย ปั่น และ วิ่ง
หากคุณเป็นคนที่สามารถว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และ วิ่งได้ดี และฝึกซ้อมมาพอสมควร แค่นี้ก็คงเพียงพอที่จะทำให้คุณเข้าเส้ยชัยในการแข่งไตรกีฬาได้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณมีผลการแข่งที่ดีได้ เพราะอะไร?
เหตุผล 4 ข้อนี้ คือ สาเหตุที่ว่า ทำไมไตรกีฬาจึงไม่ใช่แค่การ ว่าย ปั่น วิ่ง
-
เวลาในจุดเปลี่ยนกีฬาคือเวลาที่นับรวมในเวลาแข่ง
แค่คุณจัดระเบียบของจุดเปลี่ยนของตัวคุณเอง ไม่ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนจากว่ายมาปั่น หรือ จุดเปลี่ยนจากปั่นมาเป็นวิ่ง พยายามฝึกซ้อมการเข้าจุดเปลี่ยน และ นึกทบทวนในใจว่าคุณจะทำอะไรที่จุดเปลี่ยน เช่น ช่วง 20-30 เมตร สุดท้ายของการว่ายน้ำ ลองนึกดูว่าพอตัวเราไปถึงที่แขวนจักยานแล้วเราจะเรียงลำดับการเปลี่ยนกีฬาของเรายังไง
“รวดเร็ว เรียบง่าย และ เป็นระเบียบ” เป็น 3 สิ่งหลักที่นักไตรกีฬาควรทำในช่วงจุดเปลี่ยน
ส่วนตัวที่ผมทำ ใน T1* ผมจะใส่แว่นกันแดด และ ใส่หมวกจักรยานและลากรถจักรยานออกไปเลย โดยที่รองเท้าจักรยานจะถูกติดไว้ที่บันไดเรียบร้อยแล้ว และผมจะใส่รองเท้าจักรยานตอนปั่นช่วง 200-300 เมตรแรก ส่วนพวกเจลหรือบาร์ที่จะกินตอนแข่ง ผมมักจะกินตอนที่กำลังปั่น หรือ กำลังวิ่ง เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการหยุดกิน
*T1 = Transition 1 : Swim to Bike
*T2 = Transition 2 : Bike to Run
เวลารวมที่ควรใช้ในจุดเปลี่ยนกีฬา ในการแข่งระยะ sprint , standard และ half นั้นไม่ควรเกิน 5 นาที ส่วนการแข่งระยะเต็มอาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นเพราะนักกีฬาอาจต้องมีการเปลี่ยนชุดปั่นหรือชุดวิ่ง
-
การกินอาหารและการดูดซึมสารอาหารของร่างกาย
พยายามหาข้อมูลว่าตัวคุณเองต้องการพลังงานกี่แคลอรี่ต่อชั่วโมง และ ถ้าเป็นไปได้การมีข้อมูลเรื่องอัตราการเสียเหงื่อ (มิลลิลิตรต่อชั่วโมง) ของตัวเองจะยิ่งทำให้การวางแผนเรื่องการกินระหว่างแข่งของคุณดียิ่งขึ้น
- สูตรการคิดอัตราการเสียเหงื่อแบบพื้นฐาน
–น้ำหนักตัว ก่อนการออกกำลังกาย (A)
–น้ำหนักตัว หลังการออกกำลังกาย (B)
A – B = น้ำหนักรวมที่เปลี่ยนไป (C)
–ปริมาณรวมของการดื่มน้ำระหว่างการออกกำลังกาย (D)
C + D = ปริมาณของเหงื่อที่เสียไประหว่างการออกกำลังกาย เป็นมิลลิลิตร (E)
–ความนานของการออกกำลังกาย เป็นนาที หรือ ชั่วโมง (F)
E / F = อัตราการเสียเหงื่อ (มิลลิลิตรต่อชั่วโมง หรือ จำนวนนาทีที่ออกกำลังกาย)
ข้อควรระวัง
–การชั่งนำ้หนักทั้งก่อนและหลังควรมีเสื้อผ้าให้น้อยชิ้นมากที่สุด
–ช่วงเวลาของการออกกำลังกายควรมีอย่างน้อย 60 นาที
-
การฝึกจิตใจ
เมื่อวันแข่งมาถึง หากเป้าหมายของคุณคือ สถิติที่ดีที่สุด ขอให้คุณเตรียมพร้อมจิตใจที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และพร้อมยอมรับความทรมานและความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นระหว่างแข่ง
คำถามสำคัญ คือ จริงๆแล้วคุณต้องการมันมากแค่ไหน มากพอที่จะยอมพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่เหนื่อยเกินกว่าที่คุณจะรับไหวหรือไม่ หากคำตอบคือใช่ คุณ “อาจจะ” ได้สถิติใหม่ในการแข่งครั้งนี้
-
ไตรกีฬา คือ การว่ายน้ำในที่เปิดโล่ง ปั่นจักรยานหลังว่าย และวิ่งหลังปั่น
เกือบจะในทุกๆการแข่งไตรกีฬา การว่ายน้ำจะถูกจัดให้เป็นแบบว่ายน้ำแบบเปิดโล่ง คือ ไม่มีเลนที่นักกีฬาจะมองเห็นใต้น้ำ ไม่มีเชือกขึงกั้นระหว่างเลนเหมือนสระว่ายน้ำ
สิ่งสำคัญที่คุณควรจะฝึกให้ชำนาญคือ การดูทิศทางระหว่างว่ายน้ำ เพื่อให้สามารถว่ายได้เป็นเส้นตรงตามระยะทางที่กำหนดไว้ และ การว่ายตามนักกีฬาคนอื่นเพื่อประหยัดพลังงาน
อีกสิ่งที่ควรระวังคือ ช่วงหลังจากว่ายน้ำเสร็จใหม่ๆและกำลังวิ่งเพื่อไปจุดจอดจักรยาน ร่างกายคุณมีการเปลี่ยนการเคลื่อนไหวจากแนวนอนมาเป็นแนวตั้ง กล้ามเนื้อช่วงขาจึงอาจจะยังไม่พร้อมใช้งาน คุณจึงควรฝึกเพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับการเปลี่ยนกลุ่มกล้ามเนื้อจากการว่ายไปปั่น
ที่ขาดไม่ได้คือ การฝึกซ้อมวิ่งหลังปั่นเพื่อให้ร่างกายสามารถทนต่อการใช้งานกลุ่มกล้ามเนื่อที่คล้ายกันของการปั่นและวิ่ง และ ทำให้คุณสามารถวิ่งเร่งความเร็วได้หลังการปั่นระยะทางไกล
ลองนึกภาพ การแข่ง Ironman 70.3 ที่คุณจะต้องวิ่ง 21 กม. หลังว่าย 1.9 กม. และ ปั่น 90 กม. ถ้าคุณไม่มีกล้ามเนื้อขาและลำตัวที่แข็งแรง มันจะยากมากที่คุณวิ่งได้ดีโดยเฉพาะช่วง 5 กม. สุดท้าย
ท้ายที่สุดแล้ว ไตรกีฬา มันก็คือกีฬาอีกหนึ่งชนิดในตัวของมันเอง และมันก็ไม่ใช่การรวมเอากีฬา ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง มาไว้ด้วยกัน ถ้าคุณสามารถฝึกซ้อมและมีคำตอบใ้ห้กับตัวเองในทุกๆเรื่องของบทความนี้ ผมมั่นใจว่าคุณจะมีผลการแข่งที่ดีขึ้นในการแข่งครั้งหน้าของคุณอย่างแน่นอน
TC triathlon
Subscribe, like and share for more useful articles, photo and VDO clips at
- Facebook: https://www.facebook.com/MrTCtriathlon/
- Instagram: https://www.instagram.com/tctriathlon/
- Twitter: https://twitter.com/MrTCtriathlon
- YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCXnq4NAFhRLwm45LvYl8vhQ