แมกนีเซียม มีความสำคัญต่อนักกีฬาอย่างไร
แมกนีเซียมอาจเป็นแร่ธาตุชนิดแรกที่เราควรนึกถึง สำหรับการเพิ่มความฟิตให้ร่างกาย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแมกนีเซียมมีความสำคัญต่อศักยภาพในการออกกำลังกายอย่างไร ต่อไปนี้คือประโยชน์ของแมกนีเซียมที่มีต่อนักกีฬา ไปดูกันว่ามีอะไรบ้าง
แมกนีเซียมมีหน้าที่อะไร
แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่สำคัญมาก เพราะแทบจะมีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย แมกนีเซียม 30% ในร่างกายนั้นถูกเก็บเอาไว้ในกล้ามเนื้อ เป็นแร่ธาตุที่ถูกใช้ในการทำงานหลายอย่าง เช่น การผลิตพลังงานสำหรับใช้ในการออกกำลังกายแบบแอโรบิค (คู่กับออกซิเจน) และการออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิค (ไม่ต้องใช้ออกซิเจน) ทั้งยังมีหน้าที่ช่วยสร้างโปรตีนในร่างกาย มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อ มีความสำคัญต่อการก่อตัวของกระดูกและฟัน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์กว่าร้อยชนิด
แมกนีเซียมสำคัญต่อนักกีฬาอย่างไร

การวิจัยพบว่ายิ่งเราออกกำลังกายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องการแมกนีเซียมมากเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงของปริมาณแมกนีเซียมในเลือดกับการเพิ่มศักยภาพของกล้ามเนื้อ ยกตัวอย่างเช่น การมีพลังกล้ามเนื้อขามากกว่าเดิม หมายความว่าเราสามารถเพิ่มศักยภาพได้ด้วยการได้รับแร่ธาตุที่สำคัญ
การวิจัยพบว่าแมกนีเซียมจะลดระดับแลคเตทในเลือด แลคเตท (กรดแลคติค) จะเกิดขึ้นในตอนที่เราออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง หากมีจำนวนเพิ่มขึ้นจะลดสมรรถนะในการออกกำลังกายและทำให้เมื่อยล้าเร็วขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายโดยที่มีแมกนีเซียมไม่เพียงพอยังจะทำให้อัตราการใช้ออกซิเจนและอัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย แร่ธาตุชนิดนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ทำหน้าที่คล้ายสารต้านอนุมูลอิสระด้วยการช่วยเสริมการป้องกันและปกป้องเราจากโรคต่างๆ
การได้รับแมกนีเซียมมากขึ้นนั้นดีต่อเรา
สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) ให้ข้อมูลว่า ผู้หญิง (วัยผู้ใหญ่) ที่มีสุขภาพดีควรได้รับแมกนีเซียมวันละ 310-320 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ชายควรได้รับ 400-420 มิลลิกรัมต่อวัน การทานอาหารที่มีความสมดุลก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราได้รับแมกนีเซียมในปริมาณที่เพียงพอต่อวัน แต่ถ้ามีการออกกำลังกายด้วยมันก็อาจจะไม่พอ เพราะเราจะสูญเสียแมกนีเซียมทางเหงื่อ ซึ่งเราสามารถหาแมกนีเซียมมาชดเชยได้ แต่ปริมาณที่ร่างกายแต่ละคนต้องการมันจะไม่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาก่อน และถ้าหากเรามีความเครียดก็ควรได้รับแมกนีเซียมมากขึ้นไปอีก
อาการขาดแมกนีเซียม
- ขาเป็นตะคริว
- วิงเวียน
- มีปัญหาเรื่องระบบการย่อย
- มีอาการเมื่อยล้า
- จังหวะการเต้นของหัวใจไม่ปกติ
- ปวดหัว
หากมีอาการเหล่านี้ควรไปปรึกษาแพทย์
อาหาร 9 ชนิดที่มีแมกนีเซียมอยู่เยอะ

โดยปกติแล้วเราควรได้รับแมกนีเซียมจากอาหารแทนที่จะได้รับจากอาหารเสริม เพราะมันดีต่อสุขภาพมากกว่า มื้ออาหารที่มีความสมดุลจะช่วยให้เราได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
- เมล็ดทานตะวัน (395 มก./100 มก.)
- เมล็ดฟักทอง (402 มก./100 มก.)
- งา (347 มก./100 มก.)
- เมล็ดแฟล็กซ์ (350 มก./100 มก.)
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (270 มก./100 มก.)
- ถั่วขาว (140 มก./100 มก.)
- ถั่วลูกไก่ (115 มก./100 มก.)
- ข้าวโอ๊ต (139 มก./100 มก.)
- สวิสชาร์ด (81 มก./100 มก.)
อาหารเสริมแมกนีเซียม ดีหรือไม่
หากคุณหมอแนะนำให้ทานอาหารเสริม เพื่อแก้ไขอาการขาดแมกนีเซียม ก็ต้องระวังเรื่องปริมาณให้ดี เราไม่ควรได้รับ “แมกนีเซียมจากอาหารเสริม” เกินวันละ 250 มก. เพราะอาจจะทำให้ท้องเสียได้
บทสรุปส่งท้าย
ยิ่งเราออกกำลังกายมากก็ยิ่งต้องได้รับแมกนีเซียมจากอาหารมากขึ้น อย่ามองข้ามความสำคัญของแมกนีเซียมที่มีต่อนักกีฬา และให้โฟกัสไปที่มื้ออาหารที่มีความสมดุล หากเพื่อนๆ มีอาการขาดแมกนีเซียมก็ควรไปปรึกษาแพทย์ การทานอาหารเสริมนั้นช่วยได้แต่ถ้าหากกำลังจะลงแข่งขันก็ควรค่อยๆ ทานแมกนีเซียมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ร่างกายมีเวลาปรับตัว
ที่มา : https://bit.ly/3vPlvHw
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming