ทำไมการว่ายน้ำ..ทำให้วิ่งดีขึ้น?
การวิ่งเป็นกีฬาที่ใช้ร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนขา ข้อต่อเข่าและข้อเท้าอย่างมาก การใช้เทคนิคครอสเทรนนิ่ง (Cross training) หรือการออกกำลังแบบผสมผสานหลายกีฬาเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการว่ายน้ำจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานอย่างหนักและต่อเนื่อง (เช่น ตารางวิ่งสัปดาห์ละ 4 – 5 วัน หรือโดยรวมสัปดาห์ละ 50 กิโลเมตรขึ้นไป) ได้ผ่อนคลายอาการเกร็งและลดภาวะการอักเสบของเอ็น กล้ามเนื้อบริเวณรอยต่อและไขข้อได้ดีขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นการบำบัดเพื่อลดการอักเสบ (Anti-inflammatory therapy)
ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการว่ายน้ำเป็นกิจกรรมแนว Active Recovery ที่ช่วยลดน้ำหนักกดทับ (จากการพยุงด้วยแรงดันน้ำ) ต่อไขข้อและทำให้กล้ามเนื้อได้มีเปอร์เซ็นต์ฟื้นตัวในการกลับมาดีขึ้นโดยไว นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาสมรรถภาพความจุของปอดและความสามารถในการดักจับกับออกซิเจน
ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการเผาผลาญเพื่อสร้างพลังงานในร่างกาย แน่นอนว่าจำเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาความแข็งแกร่งของร่างกายในหมู่นักกีฬาวิ่ง โดยเฉพาะการวิ่งอย่างต่อเนื่องในระยะเกิน 21 กิโลเมตร (HALF-marathon) หรือราว ๆ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
โดยพื้นฐานแล้วการว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่บังคับร่างกายโดยธรรมชาติให้ควบคุมและปรับระบบการหายใจให้ตื้น-ลึก สั้น-ยาว ตามจังหวะหรือช่วง stroke การแหวกว่ายใต้น้ำ ซึ่งจะสัมพันธ์กับการส่งออกซิเจนไปกับเลือดเพื่อไปเลี้ยงยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
การว่ายน้ำแบบต่อเนื่องในท่าผสม , ฟรีสไตล์ , ผีเสื้อ , กรรเชียงและกบ (ท่าละ 500 เมตรโดยประมาณ พักระหว่างท่าเพียง 5 นาที) สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง จะช่วยให้เห็นผลลัพธ์พัฒนาการทางกายอย่างชัดเจน
สำหรับเทคนิคการว่ายน้ำที่เหมาะสมกับการสลับกับการวิ่งนั้น
ไม่ใช่แค่การเตะเท้า ตีน้ำซ้ายขวาไปมาจากฝั่งซ้ายไปขวาของสระเป็นแน่ การจะเสริมประสิทธิผลในการวิ่งได้ ต้องมาจากการวิเคราะห์ตัวเองว่ากล้ามเนื้อหรือเอ็นข้อต่อส่วนใดของร่างกายที่ควรเสริมสร้างความแข็งแรงให้มากขึ้น เพราะแต่ละท่าว่ายน้ำมาตรฐานจะมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทั้งให้ผลเผาผลาญไม่เท่ากัน ได้แก่
-ท่าฟรีสไตล์ (Freestyle) เผาผลาญได้ 206 แคลอรี่/30 นาทีว่ายต่อเนื่อง เน้นกล้ามเนื้อช่วงลำตัว ไหล่ ต้นขาหลัง
– ท่ากรรเชียง (Backstroke) เผาผลาญได้ 206 แคลอรี่ (พอ ๆ กับท่าฟรีสไตล์) /30 นาทีว่ายต่อเนื่อง เน้นกล้ามเนื้อหน้าท้องทั้งช่วงบนและล่าง
– ท่ากบ (Breaststroke) เผาผลาญได้ 295 แคลอรี่/30 นาทีว่ายต่อเนื่อง เน้นกล้ามเนื้อช่วงต้นแขน ต้นขาหน้าและต้นขาหลัง
– ท่าผีเสื้อ (Butterfly) เผาผลาญได้ 350 แคลอรี่ (สูงที่สุด) /30 นาทีว่ายต่อเนื่อง เน้นกล้ามเนื้อช่วงหัวไหล่ หน้าอก ลำตัว หลังและขา
นอกจากนี้ กรณีที่ต้องการเน้นเพิ่มสมรรถภาพร่างกายอย่างชัดเจน ก็ต้องฝึกว่ายน้ำแบบสปริ้นท์ (sprint) ซึ่งก็จะเป็นคำที่คุ้นหูนักวิ่งอยู่แล้ว คือการวิ่งแบบสปริ้นท์ หรือ Interval training โดยหลักการคือการว่ายน้ำแบบเร็วใส่แรงเต็มที่ต่อเนื่อง 50 เมตร สลับกับการพัก 30 วินาทีเท่านั้น ทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ รวม ๆ แล้วให้ได้ 10 รอบ หรือ 500 เมตร (เท่ากับระยะทางว่ายน้ำตามการฝึกแต่ละรอบนั่นเอง)