เคยสงสัยไหมว่าทำไมผู้สูงวัยที่วิ่งตามสวนสาธารณะถึงวิ่งได้ไกล และนานกว่าเรา แถมยังฟิตกว่าคนหนุ่มเสียอีก
หากรู้สึกเหมือนกัน แนะนำให้สังเกตท่าวิ่งของพวกแก ที่ไม่ได้วิ่งเร็ว หรือวิ่งด้วยเพซสูงๆ แต่เป็นการวิ่งเหยาะๆ
ในระดับที่ไม่ได้เหนื่อยมาก
เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิ่งสไตล์ #สโลว์จ๊อกกิ้ง (Slow jogging) อย่างคุณหมอ Hiroaki Tanaka ยืนยันว่าหากเป้าหมายของคุณ คือ #การวิ่งเพื่อสุขภาพ ไม่ได้กะจะลงมาราธอนหรือชิงชัยกับใคร การวิ่งลักษณะนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ปอดและหัวใจของคุณแข็งแรง แม้วัยละเลยเลข 6
อาจารย์ชาวญี่ปุ่นให้เริ่มด้วย การสังเกต #ท่าวิ่ง หากคุณวิ่งลงส้นเท้าส่งเสียงดังตึงตัง
แนะให้เปลี่ยนจากรองเท้าวิ่งที่เสริมส้น หรือมีซัพพอร์ตหนา มาเป็นรองเท้าวิ่งที่มีพื้นรองเท้าบาง เพราะจะช่วยปรับท่าวิ่งของคุณให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น แทนที่จะวิ่งลงส้นหรือลงด้วยหน้าเท้าก็เปลี่ยนมาวิ่งลงด้วยกลางเท้าแทน
จากนั้นให้เริ่มวิ่งด้วยการก้าวขาสั้นๆ ใช้เท้าแตะพื้นเบาๆ ก่อนดีดตัวขึ้น (อารมณ์จะเหมือนกับว่าคุณกำลังกระโดดลอยไปด้านหน้า) อย่าใช้เท้าไถพื้นหรือเตะพื้นเพื่อส่งแรง ตั้งหลังให้ตรง ตามองตรงไปด้านหน้า ผ่อนไหล่ทั้งสองข้าง อย่าเกร็ง เช่นเดียวกับแขนที่ปล่อยให้แกว่งไกวไปตามธรรมชาติ เงยหน้าขึ้นเล็กน้อย อย่าก้มหน้าวิ่ง ให้จินตนาการว่ากำลังมีลูกแอปเปิ้ลวางอยู่บนหัว
อย่างที่บอกว่านอกจากจะไม่ต้องวิ่งเร็วแล้ว ก็ไม่ควรวิ่งให้เหนื่อยจนหอบแฮ่ก เขาแนะนำว่าให้คุณวิ่งในระดับที่เหนื่อยปานกลางหรือระดับที่คุยกับคนข้างๆ ได้ (ถ้าวัดตามหน่วยวัดความเหนื่อย Borg scale ควรอยู่ที่ระดับ 10-12)
#ข้อดี คือ การวิ่งลักษณะนี้สามารถวิ่งได้บ่อย เพราะไม่ได้ใช้งานร่างกายหนักเหมือนการวิ่งระยะไกลที่ต้องทำเวลา วิ่งไปได้เรื่อยๆ และวิ่งได้ทุกวัน #แต่จำไว้ว่า ฟอร์มของคุณต้องถูก ให้เท้าลงพื้นอย่างแผ่วเบา ถ้าวิ่งแล้วเสียงดังถือว่าผิด
หากเป็น #ผู้เริ่มต้นควรเริ่มจากการวิ่งจ๊อกเบาๆ นาน 1 นาที สลับเดิน 30 วินาที เมื่อร่างกายแข็งแรงดีแล้วค่อยเพิ่มระยะเวลาจ๊อกกิ้ง และลดระยะเวลาที่เดิน ค่อยๆ ฝึกจนสามารถจ๊อกกิ้งได้โดยไม่ต้องหยุดเดิน
ไม่อย่างนั้นหากเจ็บตัวขึ้นมาแล้วต้องพักยาว หมดสนุกกันพอดี