[Initial Review] รองเท้าวิ่ง adidas AdiZero Sub2
นุ่ม เด้ง ไหม คนธรรมดาใส่แล้วเป็นยังไง
ตัวแทน racing flat จากค่ายนี้ สำหรับเป้าหมาย วิ่งมาราธอน เร็วกว่า 2:00 ชม
ตัวอย่างสำหรับ คอนเซ็ปท์ “เก็บไว้ เฉพาะส่วนประกอบ ที่จำเป็น”
– – – – –
จากที่ลอง “เบื้องต้น” เทียบกัน ด้วยการวิ่งเพซ 5:00-5:30 นาที/กม เทียบกับ Adios Boost 3 อย่างละ 2 กม
กับ ใส่วิ่งเพซ 6:30 อีก 2.5 กม ในสวนลุมพินี และ ใส่เดินในชีวิตประจำวัน อีก 2 อาทิตย์
ทดสอบโดยนักวิ่งมือสมัครเล่น เพซธรรมชาติ 6:15 – 6:30 นาที/กม ที่เท้าแบน และกว้างถึงกว้างมาก (2E/4E)
เป็นความเห็นส่วนตัว ของรองเท้าที่ซื้อเอง ไม่ใช่รองเท้าที่ adidas Thailand ส่งมาให้รีวิว
– – – – –
☑ รูปทรงเป็น racing flat เด่นมาแต่ไกลเลย
– บาง เบา ปราดเปรียว คล่องตัว เรียว และกระชับกว่า รองเท้ากลุ่มอื่นๆ
☑ เบามากกกก ข้อนี้เป็นจุดเด่นที่สุดของรุ่นนี้เลยก็ว่าได้
– เบามาก แบบสุดๆ
– 165 กรัม (5.9 ออนซ์) สำหรับไซส์ 10 US (9.5 UK / 44 EU / 28.0 cm JP)
– เบาลงไปอีก เทียบกับรองเท้า racing ของค่ายเดียวกัน (ไซส์เดียวกัน) เช่น Takumi Sen 3 183 กรัม (6.5 ออนซ์) หรือ Adios Boost 3 240 กรัม (8.5 ออนซ์)
☑ ผ้า mesh บาง บางจนมองทะลุได้เลย
– ที่เห็นสีส้ม คือ แผ่นรอง insole แบบถอดออกไม่ได้ (แนวเดียวกับ Takumi)
– กระชับดี ไม่ระคายเคือง ระคายน้อยกว่า Adios 2 และ Adios 3 พอตัวเลย (เคยเปรียบเทียบ Adios 2 & 3 ไว้กับ Prime Boost ที่โพสต์ https://goo.gl/pgiR28)
☑ Heel Counter มีโครงสร้างน้อยกว่า Adios และ Takumi แต่ก็ยังล็อค ส้นเท้า ได้ดี
☑ หน้าเท้ากว้างขึ้นนิดหน่อย สำหรับ racing ก็ถือว่ากว้างใช้ได้ (ผู้ทดลองหน้าเท้ากว้าง 2E/4E)
☑ เชือกรัด กระชับใช้ได้ ไม่ลื่น ส่วนนี้สูสีกันกับ Adios ชอบคนละด้าน
– ชอบ Adios ที่กระจายน้ำหนักการรัดเชือกได้ดีกว่า ความกระชับช่วงกลางเท้า และ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเท้ากับรองเท้าดีกว่า (midfoot lock down) เทียบกัน adios มีรูร้อยเชือก 7+1 แถว ขณะที่ Sub2 มี 6+1 แถว
– ชอบ วัสดุที่ใช้ของเชือก Sub2 ผูกแล้ว ลื่นน้อยกว่า
☑ โฟม Boost = นุ่ม เด้ง เสมอไปไหม ??
– รุ่น Sub 2 ใช้พื้นโฟมใหม่ ชื่อ Boost Light เบาลงกว่า Boost ดั้งเดิม อย่างรู้สึกได้ชัด ออกแนว “โปร่ง เฟิร์ม” ต่างจากโฟม Boost รุ่นปรกติที่จะออกแนว “นุ่ม เด้ง”
– ใครเคยใส่ Ultra Boost มาแล้วหวังอยากได้ “ความนุ่ม ความเด้ง” คู่นี้จะได้ตรงกันข้ามกันแบบสุดโต่งเลย
– กระทั่งเทียบกับ Adios ที่ใช้ Boost (ตัวเดิม) + ขอบบางส่วนเป็น EVA แล้ว Adios ที่ใช้ Boost (ตัวเดิม) แบบบาง ยังเหลือ “ความนุ่ม เด้ง” อยู่มากกว่า Sub2
☑ ให้ความรู้สึก minimal จากพื้นที่บาง และ heel drop ที่ต่ำ
– ความหนาพื้น stack height (พื้นหนาเท่าไร) ใกล้เคียงกับ AdiZero Adios Boost หรือไม่ก็หนากว่านิดหน่อย (ตอนนี้ยังไม่มีสเปคอย่างเป็นทางการ)
– Heel drop (พื้นส้นหนากว่าหน้าเท้าเท่าไร) ต่ำลง เทียบกับ Adios ที่ drop 10 มม ส่วนนี้ Sub 2 มี heel drop ต่ำกว่าชัดเจน น่าจะราว 4 – 6 มม
– ลองสวมดูจะรู้สึกว่า ส้นลงไปต้ำกว่าพื้นที่เราเห็น เนื่องจากพื้นช่วงส้นเท้า เว้าลง
– วอร์มน่องกันให้ดีๆ ไม่งั้น น่อง แฮม ร้อยหวาย ชวนทะเลาะแน่ (แนะนำให้อ่าน การปรับตัว กับรองเท้า low drop ที่เคยลงไว้ ที่โพสต์ https://goo.gl/G2hMU8)
– ส่วนตัวที่ใส่รองเท้า low drop (4 มม) อย่าง Freedom ISO อยู่แล้ว กับ Kinvara 9 (ที่สะสมระยะทางเพื่อรีวิวอยู่) ก็ยังรู้สึกว่า Sub2 มีความ minimal กว่า
– นึกถึง รองเท้าสาย minimalist หรือ barefoot
– คนที่ปรับตัวไปสาย minimal หรือ barefoot น่าจะใช้ประโยชน์ได้
– ในบางแง่ นึกถึง Pure Boost DPR (เคยลง performance review ไว้ที่โพสต์ https://goo.gl/C5mNHx) ที่ ออกแนว minimal และไม่มี torsion system เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ DPR ออกนุ่มกว่า และ Sub 2 บางกว่า เฟิร์มกว่า
☑ พื้น กดเท่าไร ได้คืนเท่านั้น เสริมความ minimal เข้าไปอีก
– พื้น “เด้ง” และ “ดีด” ช่วยน้อยลงกว่า Adios
– โฟมใหม่ เบาลง แต่รู้สึก “เด้ง” น้อยลง
– พื้นใหม่ เบาลง แต่ “ดีด” น้อยลง
– Sub 2 ไม่มี torsion system แกนพลาสติก ที่ปรกติจะมีในรอบเท้าวิ่งที่เน้น performance ของ adidas ช่วยรักษาโครงให้พื้นโฟม และดีดช่วย ช่วง toe off
– พื้นช่วงหน้าเท้า (toe spring) โค้งงอนขึ้นบ้าง น้อยกว่า Adios เล็กน้อย
☑พื้น outsole แผ่นยาง continental แบบ เต็มแผ่น
– รู้สึกหนึบ นึกถึงยางจำพวก sticky rubber
– หลังวิ่ง ใส่เดินผ่านฟุตบาท มีลื่น (จนตกใจเลย) ระหว่างวิ่งไม่เจอลื่นเลย ไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร (อาจจะเป็นชนิดของวัสดุของฟุตบาทช่วงนั้น)
☑ เบา = ซิ่ง เสมอไปไหม ??
– Adios หนักกว่าราว 50% แต่กลับรู้สึก ซิ่งกว่า เด้งกว่า ดีดกว่า
☑ พื้นช่วงอุ้งเท้า แคบ และ โค้งขึ้น รู้สึกเหมือนมี arch support
– ดูจากพื้นเหมือนจะกว้างขึ้น กว่า Adios แต่พอสวมจริง (ผู้ทดลองเท้าแบน) กลับรู้สึก คอดเรียวเข้ามาเพิ่ม
– ถือว่าคอดมากสำหรับรองเท้าวิ่งทั่วไป คอดคล้ายกับ Nike Vapor Fly 4% (คอดกว่า Adios และ Zoom Fly)
– มีพื้นนูนขึ้นมาช่วงขอบ ฝั่งด้านในอุ้งเท้า รู้สึกเหมือนเป็น arch support
ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับส่วนนี้ไหม ที่เเสริมให้ “ลงเท้าด้านนอกมากกว่าปรกติ” คือ ไม่มีถ่ายน้ำหนักจากด้านนอกเท้า มาสู่ด้านใน แล้วส่งต่อไปที่นิ้วโป้ง (pronate ต่อในช่วง foot transition)
อีกความเป็นไปได้นึง คือ ความทีไม่มี support ในอุ้งเท้าเลย รู้สึกอุ้งเท้าลอย (ผู้ทดลองเท้าแบน) เลยลงเท้าแล้ว “กังวลไปเอง ว่าไม่มี arch support” เลยไม่ pronate
– – – – – –
☑ ขาแรง หรือ คนที่วิ่งเร็วแล้ว คุมรอบขา คุมท่าวิ่งอยู่ น่าจะชอบ
– ระยะ 10-21 กม ไม่ว่าจะใส่ซ้อม ใส่แข่ง
– หรือ 42 กม ถ้าปรกติใส่รองเท้าแนว racing ระยะ 42 กม อยู่แล้ว
☑ คนทั่วไปเพซกลางๆ อย่างผู้ทดลอง
– ใส่ได้ เบาดี
– วิ่งเล่น เพซช้าถึงกลาง ระยะ 10 – 15 กม ไม่เกินนั้น (ยกเว้นคนที่กล้ามเนื้อแข็งแรง)
– ยิ่งคนชอบรองเท้าแนว minimal น่าจะชอบ
– ส่วนตัว ไม่น่าได้ประโยชน์สูงสุดจากรองเท้า และ น่าจะมีรองเท้าอื่น “เหมาะ” กับประโยชน์ใช้สอยมากกว่า
ในฐานะนักวิ่งกลางๆ จนถึงท้ายแถว และไม่ค่อยได้ซ้อม speed workout อย่าง interval ยังนึกไม่ออกว่าจะใส่เมื่อไหรใน rotation ปัจจุบัน นอกจากวันที่วิ่งเล่น ไม่เน้นการซ้อม วิ่งสนุกๆ กับเพื่อนๆ เช่น วิ่งเพซช้า ถึงเพซกลาง ที่ระยะไม่ยาวมาก
จะจัดอยู่หมวดเดียวกัน รองเท้าดี สำหรับมือดี (ผมมือไม่ถึงเอง ที่จะใช้ประโยชน์ได้คุ้ม) เช่นเดียวกับ Adios อีกหลายคู่ ไม่รวม Takumi ที่มีอยู่ ก็ยังไม่ค่อยได้ใส่วิ่งเท่าไร
วิ่งยาว เพซช้า ปล่อยไหลๆ แนว LSD ก็มีรองเท้าที่มี support พออยู่แล้ว
วิ่งเก็บระยะประจำวัน base run ความเร็วกลางๆ ระยะกลางๆ ก็มีรองเท้าหลายคู่แข่ง
วิ่งแนวเท้าเปล่า หรือ minimal ระยะสั้นๆ (นานๆทำที) ก็มีสาย minimal อยู่บ้าง
การวิ่งแบบที่ “เป็นไปได้” ที่คู่นี้พอจะแทรกสอดได้
– วิ่งเล่น ไม่เน้นความเร็ว ได้ถึง ความเร็วธรรมชาติ ระยะราว 10 – 15 กม
– วิ่ง tempo เพซเร็วกว่าปรกติหน่อย ระยะกลางถึงสั้น เช่น 5 กม
วิ่ง interval วิ่งสั้นๆ เร็วๆ เพื่อเค้นความสามารถ ส่วนนี้ก็เป็นไปได้ที่จะใช้ได้ แต่ส่วนนี้ผมแทบไม่ได้ทำเลย
☑ จะว่าไป เบามากๆ โครงสร้างน้อยๆ heel drop ไม่สูง แบบนี้ ใส่แล้วนึกถึง รองเท้าแนวนี้อีกคู่นึง ASICS Gel Hyper Speed โดยที่ Sub 2 จะออกเฟิร์มกว่า
– – – – – –
เทียบกับ Nike Zoom Fly หรือ Vapor Fly 4% ล่ะ ??
Vapor Fly การออกแบบ เป็นส่วนผสมของ พื้นโค้งแบบ rocker shape (แนว heel drop สูง) + แผ่น carbon plate
พอเราวิ่งเร็ว ท่าวิ่งแนว natural running โน้มตัว + ควงขาให้ทัน –> จูนรอบขาติด –> ปล่อยเข้า auto pilot ได้เลย จนกว่าหัวใจเราจะไม่ไหว
ส่วน Sub2 เหมือนรถแข่ง เกียร์กระปุก กดเท่าไร ได้เท่านั้น
ใครขาแรงพอ เครื่องติด กดไป
ใครขาไม่แรงพอ เครื่องก็รวนไป
ส่วนพื้นก็ใช้โฟมคนละคอนเซ็ปท์กัน
Zoom X ของ Vapor Fly เป็น หนา เบา เด้ง
Boost Light ของ Sub2 เป็น บาง เบา เฟิร์ม
– – – – – –
ข้อมูลที่ทราบ จนถึงตอนนี้วางขายเงียบๆ ที่เกาหลี ที่เดียวราคาราว 6,300 บาท (เกาหลี อีกแล้ว !!)
ญี่ปุ่น อเมริกา และประเทศไทย จะวางขาย พร้อมกันทั่วโลก วันที่ 15 มีนาคม
อเมริกา จะขาย ราคาป้าย $180 (เท่า Ultra Boost)
เมืองไทย เดาว่าราคาป้ายน่าจะ 6,500-7,200 บาท (เท่า Ultra Boost)
เมืองไทย จะขายที่ไหนบ้าง จำนวนเยอะไหม ยังไงรอทาง adidas Thailand ประกาศ น่าจะชัวร์ที่สุด ^^
เรื่องไซส์ ส่วนตัวเลือก +0.5 มา (ไซส์เดียวกับ Adios Boost)
– – – – –
คำถามที่เจอบ่อย “รองเท้าที่ดีที่สุด” คือ คู่ไหน ??
คำตอบประจำ คือ ส่วนตัวแล้ว แนะนำให้ตามหา “รองเท้าที่เหมาะกับเราที่สุด”
เหมาะกับ การใช้สอยของเรา
เหมาะกับ ความสามารถของเรา
เราจะได้ใช้ประโยชน์สูงสุดจากรองเท้า
#outrunTH
#adidas #adiosboost #adidasrunning #adidasthailand#3stripesstyle #trainracebeer #imagearist
Comments 46