กล้ามเนื้อหลากชนิด พรสวรรค์ที่ต่างกันตั้งแต่เกิด
มนุษย์เรามีสิ่งที่เรียกว่า “พรสวรรค์” หรือ “Gift” ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด สำหรับนักกีฬานั้นพรสวรรค์ที่ว่านี้ หมายถึง ชนิดของกล้ามเนื้อ หรือหลายคน อาจจะเคยได้ยินคำว่า เส้นใยกล้ามเนื้อ แต่ละคนมี ขนาด และสัดส่วนแตกต่างกันไปตามพันธุกรรมของตนเองที่ได้รับมา กล้ามเนื้อเหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภายหลังได้จะคงอยู่ถาวรตั้ งแต่เกิดจนถึงตาย แต่ว่าก็สามารถฝึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของตัวนักกีฬาได้เช่นกัน แต่ถ้าหากนำมาเปรียบเทียบกันจะพบว่าการฝืนใช้กล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสมนั้นจะไม่สามารถรีดเอาประสิทธิภาพที่มากพอของกล้ามเนื้อออกมาใช้งานได้อย่างเต็มที่
เส้นใยกล้ามเนื้อ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
กล้ามเนื้อแดง และกล้ามเนื้อขาว โดยกล้ามเนื้อแดงจัดเป็นกล้ามเนื้อประเภทที่ 1 มีความสามารถในการหดตัวที่ค่อนข้างช้า แต่มีข้อได้เปรียบในเรื่องของความทนทานในการใช้งานมากเป็นพิเศษ เนื่องจากกล้ามเนื้อประเภทนี้จะมีเส้นเลือดฝอยแพร่กระจายอยู่ภายในกล้ามเนื้อจำนวนมาก และยังมีเซลล์เฉพาะที่เป็นรูปแบบของ แอโรบิคเอนไซม์ ที่ช่วยส่งเสริมให้กล้ามเนื้อชนิดนี้เหมาะสำหรับนักกีฬาที่ต้องอาศัยการแข่งขันที่ระยะเวลายาวนาน เช่น การแข่งวิ่งมาราธอน
ต่อมาเป็นกล้ามเนื้อขาวซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อยด้วยกันคือ
กล้ามเนื้อขาว type 2A และกล้ามเนื้อขาว type 2B ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึง กล้ามเนื้อขาว type 2B ก่อน ซึ่งกล้ามชนิดนี้เป็นกล้ามเนื้อประเภทที่มีความแข็งแรง และรวดเร็วมากกว่ากล้ามเนื้อแดงมากเป็นพิเศษ เพียงแต่ว่าความแข็งแรงที่ได้มานั้นต้องแลกกับ ความทนทาน และระยะเวลาในการใช้งานที่ค่อนข้างสั้นมาก นักกีฬาที่มีเส้นใยกล้ามเนื้อประเภทนี้มากไม่เหมาะสมกับการแข่งขันที่อาศัยระยะเวลานาน
กล้ามเนื้อขาว type 2B นี้เหมาะสมสำหรับนักกีฬาประเภทใช้แรง และความเร็วสูงในเวลาที่ไม่นาน เช่น การยกน้ำหนัก และการต่อยมวย ส่วนกล้ามเนื้อขาว type 2A นั้นเป็นกล้ามเนื้อที่มีความพิเศษกว่าชนิดอื่น มีการผสมระหว่างเส้นใยกล้ามเนื้อแดงผสมกล้ามเนื้อขาว แน่นอนว่าทำให้กล้ามเนื้อชนิดนี้มีลักษณะของ แอโรบิค และแอนแอโรบิก ผสมกันอยู่ กล้ามเนื้อชนิดนี้มีข้อดีในเรื่องของความรวดเร็ว และความทนทานในการใช้งานซึ่งถือเป็นจุดเด่นของกล้ามเนื้อทั้ง 2 ชนิดก่อนที่ได้กล่าวไปแล้ว
แต่ว่าอย่างไรก็ตามกล้ามเนื้อขาว type 2A นี้ก็ไม่ได้มีความแข็งแรงหรือความทนทานในการใช้งานที่เป็นจุดเด่นมากพอสมควร แต่ก็ถือว่าเป็นจุดสมดุลของเส้นใยกล้ามเนื้อที่เหมาะสม ซึ่งผู้ที่มีกล้ามเนื้อประเภทนี้อาจจะเหมาะสำหรับกีฬาที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเล่นปานกลางแต่มีการเร่งความเร็วในบางครั้ง เช่น การเล่นฟุตบอล
ปกติแล้วในการแบ่งแยกความเหมาะสมของนักกีฬาที่เล่นกีฬาชนิดใด ๆ นั้น จะแบ่งแยกตามเปอร์เซ็นต์ของกล้ามเนื้อที่เจ้าตัวนั้นมีอยู่ ตัวอย่าง เช่น นักวิ่งมาราธอนอาจมีกล้ามเนื้อแดงที่ร้อยละ 90 และ มีกล้ามเนื้อขาวเพียงแค่ร้อยละ 10 แต่กลับกันสำหรับ นักวิ่งระยะสั้นอาจจะมีกล้ามเนื้อขาวมากถึงร้อยละ 90 และกล้ามเนื้อแดงเพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น
แม้ว่าเราจะไม่สามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงชนิดของเส้นใยกล้ามเนื้อที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิดได้ เราก็ยังสามารถพยายามฝึกซ้อม และรีดเอาประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อที่เรามีอยู่ออกมาให้ใช้งานได้อย่างดีที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าถ้าหากกล้ามเนื้อที่เรามีอยู่นั้นไม่ใช่กล้ามเนื้อที่เหมาะสมกับชนิดกีฬาที่เราเลือกเล่นก็จะถือเป็นข้อเสียเปรียบที่เราต้องยอมรับ