ที่มาที่ไปของ IRONMAN การแข่งขันเฟ้นหาคนพันธุ์แกร่ง
ที่มาที่ไปของ IRONMAN ถ้าคุณเป็นนักไตรกีฬา ผมเชื่อว่าคุณต้องรู้จักการแข่งขันที่เราเรียกกันจนติดปาก หรือได้ยินจนคุ้นหูเป็นอย่างดี ที่ชื่อว่าการแข่งขัน IRONMAN อย่างแน่นอน ใช่ครับ!! การแข่งขันไตรกีฬาในระยะ IRONMAN นั้นคือ ที่สุดของการแข่งขันไตรกีฬา ด้วยระยะทางว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่งต่ออีก 42.195 กิโลเมตร ในจักรวาลนี้จึงไม่มีระยะการแข่งขันใดที่จะเหนือไปกว่านี้อีกแล้ว
แต่ทว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า ผู้ที่สามารถพิชิตการแข่งขัน IRONMAN ได้ ใช่ว่าจะได้ยืนในจุดสูงสุดเสมอไป เพราะจุดสูงสุดของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น IRONMAN ก็คือการพิชิตความสำเร็จในการแข่งขัน IRONMAN WORLD CHAMPIONSHIP ที่ Kona ฮาวาย
ซึ่งก่อนที่ผมจะพาทุกคนไปฮาวาย ผมอยากจะขอเล่าที่มาของการแข่งขันที่ชื่อว่า IRONMAN ก่อนสักเล็กน้อย เพราะผมคิดว่าที่มาของมันก็น่าสนใจ และดูบ้ามากพอ ๆ กับการแข่งขัน IRONMAN เลยทีเดียว
ใครจะเชื่อล่ะครับว่า ที่มาของการแข่งขัน IRONMAN เกิดจากการท้าทาย และพยายามที่จะเอาชนะซึ่งกัน และกันนี่เอง เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อปี 1977 เกิดประเด็นโต้เถียงกันระหว่างกลุ่มนักวิ่ง Mid Pacific Road Runners และกลุ่มนักว่ายน้ำ Waikiki Swim Club ด้วยประเด็นที่ว่าใครอึดกว่ากัน?
ซึ่งในระหว่างโต้เถียงก็มีผู้อ้างอิงถึงบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดังอย่าง Sports Illustrated ว่า แท้จริงแล้วนักกีฬาที่อึดที่สุดถ้าวัดจากค่า Oxygen Intake ก็คือ นักปั่นจักรยานชาวเบลเยี่ยม ชื่อว่า เอ็ดดี่ เมิร์ค ต่างหาก ไม่ใช่ทั้งนักวิ่ง หรือนักว่ายน้ำที่เถียง ๆ กันอยู่สักหน่อย เงิบกันไปทั้งสองวงการเลยทีนี้
จากนั้นนายคอลลิน ผู้มีส่วนร่วมในประเด็นถกเถียงเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น ก็เสนอความคิดที่ว่า “ทำไมเราไม่หาข้อยุติการโต้เถียงประเด็นนี้ ด้วยการจัดการแข่งขันที่รวมระยะไกลสุดของกีฬาทั้งสามประเภทนี้เข้าไว้ด้วยกันซะเลยล่ะ” การแข่งขันจึงถูกจัดขึ้นในปี ค.ศ.1978 โดยระบุกำหนดการ และกติกาทุกอย่างลงในกระดาษเพียงแค่สามแผ่นเท่านั้น ดูลงตัวมากจริง ๆ ครับสำหรับไตรกีฬาที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกพร้อมกระดาษแค่สามแผ่น ผมล่ะยอมใจเขาเลย
นอกจากนี้ ผู้จัดการแข่งขันยังได้กล่าวแก่ผู้เข้าร่วมการแข่งครั้งนี้ว่า “ใครที่ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ เราจะมอบฉายา และเรียกคน ๆ นั้นว่า IRONMAN” ทำให้ชื่อ IRONMAN กลายมาเป็นชื่อการแข่งขันสุดโหดในปัจจุบันนั่นเอง ที่มาที่ไปบ้าบอใช้ได้เลยทีเดียวครับ ผมชอบ
สำหรับการแข่งขันครั้งแรกนั้น มีผู้เข้าร่วมแข่งขันเพียง 15 คน และจบได้เพียง 12 คนเท่านั้นครับ โดยแต่ละคนต้องเตรียมของไปเองทุกอย่าง รวมถึงน้ำ และอาหารด้วย ซึ่งผู้ชนะในครั้งนั้นหรือเรียกว่าเป็น IRONMAN คนแรกของโลก ก็คือ นาย กอร์ดอน ฮอลเลอร์ ที่ทำเวลาได้ 11 ชั่วโมง 46 นาที และถือเป็นจุดกำเนิดของการแข่งขัน IRONMAN ตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาเราจะพาไปฮาวายกันครับ แต่ผมขอไปท่องเที่ยวนะครับ เพราะถ้าจะไปร่วมแข่งขัน IRONMAN WORLD CHAMPIONSHIP ที่ Kona แล้วล่ะก็ ผมจะต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกสุดโหดที่เขากำหนดไว้ให้ได้เสียก่อน เนื่องจากการแข่งขันอันยิ่งใหญ่รายการนี้ มีกฎเกณฑ์ว่าผู้สมัครแข่งขันจะต้องจบการแข่งขัน IRONMAN ในอันดับต้น ๆ ตามที่ทางรายการกำหนดไว้ ให้ได้อย่างต่ำจำนวน 12 รายการเสียก่อน จึงจะมีสิทธิ์เข้าสมัครแข่งขัน IRONMAN WORLD CHAMPIONSHIP ได้
นั่นหมายความว่า IRONMAN WORLD CHAMPIONSHIP คือรายการแข่งขันสำหรับสุดยอด IRONMAN จากทั่วทุกมุมโลกนั่นเอง ถ้าจะให้ผมเปรียบเทียบแบบให้เห็นภาพได้ชัด ๆ ก็น่าจะใกล้เคียงกับการแข่งขันโอลิมปิกสำหรับชาวไตรกีฬาครับผม
สำหรับใครที่ตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงสุดยอดแห่งงานไตรรายการนี้ให้ได้นั้น ผมก็ขอเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ครับ หากหมั่นซ้อมไตรกีฬาอย่างจริงจังบวกกับความตั้งใจมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า เชื่อว่าจะต้องทำได้ในที่สุดอย่างแน่นอน ผมจะรอดูคนไทยเราไปเข้าร่วมแข่งขัน IRONMAN WORLD CHAMPIONSHIP 2018 ที่ Kona ในวันที่ 13 Oct 2018 ที่จะถึงนี้นะครับ สู้ ๆ ครับผม